อันที่จริงท่าทางเขินอายแบบไทยๆ เรานี้ก็เป็นเสน่ห์ดี เพราะช่วยเสริมความมั่นอกมั่นใจให้คนที่อาย ตรงข้ามกับความ " กร่าง " ที่หมายมุ่งบดทับราศีคนอื่น
แต่ความขี้อายที่เกินอัตราไปนั้นก็กลายเป็นอุปสรรค์ได้ อย่างเช่น อายจนไม่กล้าถาม ก็เลยไม่รู้อยู่นั่นแหละ อายจนไม่กล้าพูด ก็เลยถูกเข้าใจผิด หรือไม่ก็ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าอายจนไม่อยากออกงานหรือพบผู้คนโลกทัศน์ก็อาจจะแคบ
คนบางคนที่รักความเป็นส่วนตัวมากก็อาจจะดูเหมือนคนขึ้อาย ส่วนคนที่ขี้อายขนานแท้นั้นอาจจะรักความเป็นส่วนตัวเหมือนกัน แต่จะขาดความมั่นใจด้วยในบางแง่ ทำให้อ่อนไหวต่อการมอง การคิดของคนอื่น ความขี้อายที่แพร่สะพัดในบ้านเมืองเราในปัจจุบัน คือความขี้อายที่เกี่ยวกับการไม่มี เช่น อายที่ไม่มีกระเป๋ายี่ห้อ อายที่ไม่มีปริญญา พูดภาษาฝรั่งไม่เก่ง ไม่มีรถยนต์นั่ง
อยากแนะนำว่าลองหยุดคิดสักนิดว่า
"อายใคร" "อายทำไม" ...... จะช่วยประเมินคุณค่าของคนที่เราอาย
"อายแล้วได้หรือเสียประโยชน์อะไรกับตัวเองและคนอื่น" ...... ช่วยประเมินค่าของความอายนั้นว่าคุ้มหรือไม่
" ละอาย " เป็นคำที่ใกล้เคียงกับ " อาย " แต่แตกต่างกันตรงที่ ความละอาย เป็นเรื่องของจริยธรรมความถูกต้อง ที่เกินขึ้นจากสำนึกภายใน ไม่ขึ้นอยู่กับการที่คนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ ส่วน ความอาย เป็นเรื่องของความรู้สึกรู้สมกับสายตาผู้อื่น (ถึงแม้ว่าบางครั้งไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสีย) หรือเป็นเรื่องของการถูกเปิดเผยในสิ่งที่ตัวเองต้องการที่จะปกปิด (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นเรื่องที่ควรระอาย)
ในเมื่อความอายนั้นเกี่ยวข้องกับภาพ แต่ความละอายมาจากคุณภาพทางใจ ความละอายจึงมีคุณค่าเหนือความอายอย่างมากมาย
คุณหญิงจำนงค์ศรี หาญเจนลักษณ์